วิธีทำขนมกลีบลำดวนโทโทโร ไอเดียแปลงโฉมขนมไทยเพิ่มความฟิน

จะเกิดอะไรขึ้น ! เมื่อขนมดอกลำดวนแปลงร่างเป็น Totoro เพื่อนรักจาก เฟซบุ๊ก Baking Glory

สวัสดีค่ะ วันนี้เราเอาประสบการณ์การทดลองทำขนมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมดอกลำดวนในแบบฉบับของเรามาแบ่งปันกัน โดยการปั้นเป็นโทโทโร ภูติแห่งป่า ของ Studio Ghibli (ไม่ใช่การบอกเคล็ดลับสูตรขนมแต่อย่างใด แต่เป็นการแชร์ความสนุกในการสร้างผลงานการทำขนมมากกว่าค่ะ เป็นแนวการทดลองมากกว่าค่ะ) การทดลองครั้งนี้ เกิดจากความสงสัยของเราเองว่า ถ้าทำขนมดอกลำดวนให้มีหน้าตาไม่เป็นดอกลำดวนได้ไหมนะ ? ปั้นเป็นรูปอื่นได้ก็คงน่าตื่นเต้นดี ในใจหนึ่งก็คิดว่า ไม่เป็นรูปดอกลำดวนก็ไม่ใช่ชื่อขนมดอกลำดวนแล้วสิ) เลยขอตั้งชื่อว่า เป็นขนมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมดอกลำดวนแล้วกันค่ะ


โดยส่วนตัวชอบทานขนมดอกลำดวนดั้งเดิมอยู่แล้ว และคิดว่าทั้งรส กลิ่นและรูปร่างนั้น ผู้คิดค้นได้สร้างสรรค์อย่างลงตัวและเข้ากันดีที่สุดแล้ว ไม่ได้คิดที่จะปฏิวัติรูปแบบขนมแต่อย่างใดนะคะ ขอเกริ่นไว้ก่อนว่า เริ่มต้นด้วยเราลองค้นสูตรขนมจากตำราก่อนและดูความเป็นไปได้ว่าทำได้ไหม (และคิดว่าน่าจะทำได้ ซึ่งก็ต้องลองค่ะ) โดยสูตรขนมที่เราใช้นั้นเราคิดว่า โอเคเลยค่ะ เราได้สูตรจากตำราเล่มหนึ่งเป็นตำราขนมแบบดั้งเดิม (สามารถเข้าไปดูสูตรการทำขนมกลีบลำดวนได้ที่นี่ My Neighbor Totoro : Thai shortbread cookies เมื่อขนมดอกลำดวนแปลงร่างเป็นโทโทโร เราเขียนบอกไว้ค่ะ)

ต่อมาเรามานั่งคิดว่าจะทำรูปอะไรดี ถึงจะฟิน เลยคิดว่าอยากทำรูปโทโทโร (Totoro) จากเรื่อง My Neighbor Totoro ตัวการ์ตูนสุดโปรดของเราเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นค่ะ ด้วยความที่โทโทโรเป็นตัวการ์ตูนที่มีสีสัน ขนมลำดวนประยุกต์ของเราก็เลยต้องใส่สีค่ะ เราเลือกใส่สีธรรมชาติ จากงา ใบเตย และอัญชัน (ส่วนการผสมสี เราเพิ่มเข้ามาเองจากสูตรในตำรา)

ส่วนผสม [ดูอัตราส่วนผสมได้ที่ My Neighbor Totoro : Thai shortbread cookies เมื่อขนมดอกลำดวนแปลงร่างเป็นโทโทโร]
  • แป้งสาลีอเนกประสงค์
  • น้ำตาลป่น
  • น้ำมันพืช
  • งาดำคั่ว
  • ใบเตย
  • อัญชัน

วิธีทำ



ปั่นงาดำให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับแป้งสาลีอเนกประสงค์ น้ำตาลป่น และน้ำมันพืช ถ้าอยากได้สีเข้ม หรืออ่อนก็ใส่งาตามต้องการค่ะ ส่วนใบเตยและอัญชัน เราไม่ได้คั้นสีกับน้ำนะคะ แต่เราคั้นกับน้ำมันพืชเลย เพราะในสูตรไม่มีน้ำเป็นส่วนผสมค่ะ คิดว่าถ้าผสมน้ำ ขนมอาจผิดสูตรได้


ตอนผสมส่วนผสมนั้น ตำราบอกให้เคล้ากันจนเป็นก้อนที่สามารถปั้นได้คงรูป ไม่แห้งไป ไม่คืนรูปเหลว ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการใส่น้ำมันด้วย แต่ห้ามนวด บีบ อัด หรือแรง ๆ เพราะจะทำให้เนื้อแน่นและแข็งค่ะ

เมื่อได้แป้งแล้วก็ถึงเวลาปั้นแล้วค่ะ ในใจก็ตื่นเต้นว่า จะรอดไหมนะ
อุปกรณ์เสริมของเราคือ ไม้จิ้มฟันและมีด พยายามปั้นให้การบีบอัดน้อยที่สุด สร้างจากรูปร่างที่ง่ายที่สุดในการประกอบ


ปั้นออกมาหน้าตาไม่ค่อยเหมือนเท่าไร แต่พอมีเค้าโครงบ้างเล็กน้อย การปั้นก็เป็นการทดลองทำอีกขั้นหนึ่ง เพื่อลองดูว่า แบบไหนดี รูปร่างโทโทโรของเราเลยออกมาไม่เหมือนกันอะ


ลองแม้กระทั่งปั้นโทโทโรแบบประติมากรรมลอยตัวเลยทีเดียวค่ะ
ปั้นมันมาก เลยยกมาทั้งโทโทโรกลาง โทโทโรจิ๋ว และน้องฝุ่น


นำไปอบด้วยความร้อน 350 องศาฟาเรนไฮต์ ประมาณ 8-10 นาที (ถึงเวลาอบ ลุ้นใจจะขาด เอาไปอบด้วยความร้อน 350 องศาฟาเรนไฮต์ ใช้เวลาประมาณ 8-10 นาที  เมื่อเอาออกมาจากเตาอบก็ดูหน้าตาโอเคอยู่ค่ะ ใช้ได้เลย โล่งอก แต่ละตัวแต่ละไซส์ใช้เวลาอบที่ต่างกันค่ะ ต้องคอยดูดี ๆ)

เสร็จแล้วเอาไปอบควันเทียน ก่อนที่จะทาน รสและกลิ่นยังเหมือนลำดวนไม่ผิดเพี้ยน เนื้อไม่แข็งไป ไม่ร่วนไป  แค่หน้าตาเปลี่ยนไป (สูตรเขาดีจริงค่ะ)


การทดลองทำครั้งนี้ มีสิ่งที่ทำให้เห็นว่า...
  • ขนมดอกลำดวนเข้ากับรูปร่างดอกลำดวนแล้วล่ะ เพราะว่าขนมนั้นค่อนข้างบอบบางมาก  สามารถแตกหักได้ง่าย การบรรจุลงภาชนะต้องระวังเป็นพิเศษ
  • ลวดลายที่ทำไปต้องทำให้ร่องลึกและนูนเป็นพิเศษ เพราะพออบออกมา รอยก็จะหายไปบ้างถ้าจะทำรูปทรงใหม่ ๆ ต้องออกแบบดี ๆ ง่ายต่อการปั้นด้วย
 แต่อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ก็คิดว่าสำเร็จเป็นที่พึงพอใจของเราแล้ว ขนมดอกลำดวนก็สามารถทำเป็นรูปอื่นได้เหมือนกันนะ ทานได้ อร่อยเหมือนเดิม เพิ่มความฟินและความน่ารักเข้าไปอีก ถึงแม้หน้าตาจะไม่เหมือนโทโทโรเป๊ะ ๆ เท่าไร คงไม่เป็นไรนะคะ (ไม่สนับสนุนให้ทำแบบประติมากรรมลอยตัวสักเท่าไร เพราะชิ้นใหญ่และอิ่มมากค่ะ 555 )

ยังไงก็ขอจบการทดลองแต่เพียงเท่านี้ค่ะ หวังว่าผู้ที่ชื่นชอบแบบเดียวกับเราจะเพลิดเพลิน และใครมีการทดลองทำอะไรสนุก ๆ ลองเอามาแบ่งปันกันดูนะคะ แล้ววันหลังจะมาแบ่งปันประสบการณ์อื่น ๆ อีกค่ะ สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม มีคำถามสงสัย ติชม หรืออยากพูดคุย เข้ามาทักทายกันได้ที่ เฟซบุ๊ก Baking Glory ขอบคุณค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เฟซบุ๊ก Baking Glory